Tuesday, August 7, 2012

วัดเจติยาคิรีวิหาร (วัดภูทอก)

ภูทอก

ภูทอก

ภูทอก



ภูทอก




ภูทอก

ภูทอก ในภาษาอีสานแปลว่า ภูเขาที่โดดเดี่ยว เป็นที่ตั้งของวัดเจติยาคีรีวิหาร (วัดภูทอก) อยู่ในอาณาเขตบ้านคำแคน ตำบลนาแสง อำเภอศรีวิไล จ.หนองคาย ภูทอกมี 2 ลูกคือ ภูทอกใหญ่ และภูทอกน้อย ส่วนที่นักแสวงบุญและนักท่องเที่ยวทั่วไปสามารถชมได้คือภูทอกน้อย ส่วนภูทอกใหญ่อยู่ห่างออกไป ยังไม่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวไปชมได้ตามปกติ ในอดีตอาณาบริเวณนี้เคยเป็นป่าทึบ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากมาย ต่อมาพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ได้เริ่มเข้ามาจัดตั้งเป็นแหล่งบำเพ็ญเพียร เพื่อให้พุทธศาสนิกชนปฏิบัติธรรม เนื่องจากเป็นสถานที่เงียบสงบ เหมาะแก่การบำเพ็ญสมณะธรรมของภิกษุ-สามเณรและพุทธศาสนิกชนทั่วไป

ในเวลาต่อมา ก่อนที่พระอาจารย์จวนจะละสังขาร ได้เล็งเห็นการณ์ไกลที่จะช่วยเหลือชาวบ้านแถวนี้ให้มีรายได้อย่างยั่งยืนและถาวร เป็นการตอบแทนบุญคุณญาติโยมที่มีอุปการะ จึงได้ริเริ่มจัดสร้างสะพานไม้และบันไดขึ้นชมทัศนียภาพรอบ ๆ ภูทอก เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงพุทธรักษ์ คือการท่องเที่ยวในเชิงการแสวงบุญหรือธรรมจาริก นักท่องเที่ยวจะได้ประโยชน์จากการเที่ยวชมธรรมชาติคือขุนเขาลำเนาไพรและได้ศึกษาพุทธศาสนา ส่วนชาวบ้านจะได้ประโยชน์จากการจำหน่ายสินค้าและธุรกิจร้านอาหาร (เงินจะสะพัด) นี่คือการช่วยเหลือประชาชนในแนวทางของพระอริยะ ส่วนพระที่ช่วยเหลือประชาชนโดยการบอกเลขใบ้หวย เป็นการช่วยเหลือที่ไม่จีรังยั่งยืน

   บันไดขึ้นภูทอก



การขึ้นภูทอกนั้น ท่านพระอาจารย์จวนเริ่มก่อสร้างบันไดไม้สำหรับไต่ขึ้นไปในปี พ.ศ. 2512 ซึ่งมีทั้งหมด 7 ชั้น ใช้เวลาในการก่อสร้างนานถึง 5 ปีเต็ม บันไดทั้ง 7 ชั้น แตกต่างกัน ดังนี้

ชั้นที่ ๑. เมื่อนักแสวงบุญเดินผ่านประตูสวรรค์เข้าไป แม้จะไม่มีป้ายบอก แต่ก็ถือว่าเข้ามาอยู่ในอาณาบริเวณชั้นที่ 1 แล้ว ชั้นที่หนึ่งนี้นักแสวงบุญจะได้สัมผัสกับต้นไม้ใบหญ้าหลากชนิดนานาพันธุ์

ชั้นที่ ๒ เป็นบันไดไม้ยาวทอดรับจากชั้นที่ 1 (ดูภาพประกอบ) เมื่อเดินตามสะพานไม้ไปเรื่อย ๆจะเห็นสถานีวิทยุชุมชนของวัดอยู่ด้านขวามือ ชั้นที่หนึ่งและสองมีทัศนียภาพที่ไม่ต่างกันมากนัก

ชั้นที่ ๓ เป็นสะพานเวียนรอบเขา สภาพเป็นป่าเขามืดครึ้ม มีโขดหินลานหิน สุดทางชั้นที่ 3 มีทางแยกสองทาง (ดูภาพประกอบ) ทางซ้ายมือเป็นทางลัดผ่านชั้น 4 ไปสู่ชั้นที่ 5 ได้เลยซึ่งเป็นทางค่อนข้างชัน ผ่านซอกหินที่มีลักษณะเหมือนอุโมงค์ ส่วนทางขวามือเป็นทางขึ้นสู่ชั้นที่ 4 แล้ววกขึ้นชั้นที่ 5 เป็นทางอ้อม (ขอแนะนำว่าควรขึ้นทางนี้ แล้วลงทางนั้น(ทางลัด))

ชั้นที่ ๔ เป็นสะพานลอยไต่เวียนรอบเขา มองไปเบื้องล่างจะเห็นเนินเขาเตี้ยๆ สลับกัน เรียกว่า “ดงชมพู” ทิศตะวันออกจดกับภูลังกา เขตอำเภอเซกา ซึ่งมีสภาพเป็นป่าดิบ มีแม่น้ำลำธารหลายสายไหลผ่าน มีสัตว์ป่ามากมายอาศัยอยู่ โดยเฉพาะมีฝูงกามาอาศัยอยู่มาก จึงเรียกกันว่า ภูรังกา แล้วเพี้ยนมาเป็นภูลังกาในที่สุด ชั้นที่ 4 นี้ จะเป็นที่พักของแม่ชี รอบชั้นมีระยะทางประมาณ 400 เมตร มีที่พักผ่อนระหว่างทางเป็นระยะๆ
ชั้นที่ ๕ หรือชั้นกลาง เป็นชั้นที่สำคัญที่สุดแต่ไม่ได้สวยที่สุด (สวยที่สุดคือชั้น 6) มีศาลากลางและกุฏิที่อาศัยของพระ และเป็นที่เก็บศพของพระอาจารย์จวนไว้ด้วย ตามช่องทางเดินจะมีถ้ำอยู่หลายถ้ำ เช่น ถ้ำเหล็กไหล ถ้ำแก้ว ถ้ำฤาษี ฯลฯ ตลอดเส้นทางสู่ชั้นที่ 6 มีที่พักเป็นลานกว้างอยู่ราว 20 แห่ง มีหน้าผาชื่อต่างๆ กัน เช่น ผาเทพนิมิตร ผาหัวช้าง ผาเทพสถิต ฯลฯ ถ้ามาทางด้านเหนือจะเห็นสะพานหินธรรมชาติทอดสู่พุทธวิหาร อันเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ด้วย มองออกไปจะเห็นแนวของภูทอกใหญ่อย่างชัดเจน และมีบันไดเวียนขึ้นสู่ชั้นที่ 6

ชั้นที่ ๖ เป็นชั้นสุดท้ายของบันไดเวียนรอบเขา มีความยาว 400 เมตร เป็นชั้นที่นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมทัศนียภาพรอบ ๆ ภูทอกได้ดีที่สุดและสวยที่สุด สิ่งศักดิ์สิทธิ์และน่าชมที่สุดของชั้นนี้คือ ปากทางเข้าเมืองพญานาคซึ่งอยู่หลังพระปางนาคปรก มีจุดให้สังเกตุคือมีรอยสีขาวขูดติดกับหินปูน ซึ่งชาวบ้านถือว่าเป็นรอยถลอกที่เกิดจากท้องพญานาคสัมผัสกับหิน และมีบ่อน้ำเล็ก ๆ ขังอยู่เกือบตลอดปี (ดูภาพประกอบ)
ป.ล. การถ่ายภาพพุทธวิหารให้ได้ภาพงดงามที่สุด ต้องถ่ายซูมจากชั้นที่ 6 เท่านั้น
ชั้นที่ ๗ จากชั้นที่หกขึ้นมาชั้นที่เจ็ด จะมีบันไดไม้พาดขึ้นมา เมื่อเดินขึ้นบันไดผ่านมาแล้วจะเจอทางแยก 2 ทางเพื่อขึ้นไปบนดาดฟ้าชั้น 7 ทางแรกเป็นทางชัน ต้องเกาะเกี่ยวกิ่งและรากไม้โหนตัวขึ้นด้านบน นักท่องเที่ยวจะได้ความสนุกผสมความมันส์ดุจขึ้นเขาคิชฌกูฏ(จันทบุรี) อีกทางหนึ่งเป็นทางอ้อมต้องเดินเวียนไปทางขวามือ แต่จะมาบรรจบกันด้านบน ทางนี้เหมาะสำหรับคนแรงน้อย คนเฒ่า-คนแก่และเด็ก ๆ
สำหรับชั้นที่เจ็ดบนดาดฟ้านั้นมีเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ เป็นชั้นมหัศจรรย์อีกชั้นหนึ่ง เพราะนักท่องเที่ยวบางคนประทับใจมาก ทั้ง ๆ ที่ไม่มีสิ่งก่อสร้างใด ๆ มีเพียงป่ากับต้นไม้ ส่วนบางคนไม่ประทับใจเลย บอกว่าไม่เห็นมีอะไร ส่วนพวกนักท่องเที่ยวผู้มีตาทิพย์หรือมีญาณวิเศษก็บอกว่า ต้นไม้บนดาดฟ้าชั้นที่เจ็ดเป็นวิมานของพวกเทวดาเต็มไปหมด ดังนั้น คนที่ไม่มีบุญหรือบุญไม่พอ จะไม่มีโอกาสได้มาถึงชั้นเจ็ดอย่างแน่นอน ถึงเดินมาก็มาไม่ถึง หรืออาจเดินหลงทางหรือหาทางขึ้นไม่เจอก็เคยมี
ป.ล. นักท่องเที่ยวผู้มาจากแดนไกล เมื่อมีโอกาสแล้ว ควรหาโอกาสปีนมาให้ถึงชั้น 7 จะได้ไม่คาใจ (สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น)

การเดินทาง
ภูทอกอยู่ห่างจากตัวเมืองหนองคายประมาณ 185 กิโลเมตร การเดินทางจากตัวเมือง ใช้ทางหลวงหมายเลข 212 ผ่านอำเภอโพธิ์ชัย อำเภอปากคาด และอำเภอบึงกาฬ แล้วเลี้ยวขวาเข้าเส้นทางหลวงหมายเลข 222 ถึงอำเภอศรีวิไล จากอำเภอศรีวิไลมีทางแยกซ้ายผ่านบ้านนาสิงห์ บ้านสันทรายงาม สู่บ้านนาคำแคน ถึงภูทอกเป็นระยะทางอีก 30 กิโลเมตร

No comments:

Post a Comment