Sunday, April 8, 2012

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี










พลเอกหญิง พลเรือเอกหญิง พลอากาศเอกหญิง สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี (24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 — 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554) เป็นพระราชธิดาเพียงพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวกับพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ประสูติ ณ พระที่นั่งเทพสถานพิลาส ในหมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง ก่อนที่สมเด็จพระบรมชนกนาถจะเสด็จสวรรคตในอีกหนึ่งวันต่อมา


พระนาม เพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี นั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้ในพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวยังโปรดให้ใช้คำนำหน้าพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ออกคำนำหน้าพระนามเป็น สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ และคำนำหน้าพระนามนี้ยังใช้จนถึงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลปัจจุบัน


หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สิ้นพระชนม์ พระองค์ก็นับเป็นพระกุลเชษฐ์โดยพระชนมายุ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ นอกจากนี้พระองค์ยังเป็นพระญาติชั้นที่ 3 ของพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ อดีตพระมหากษัตริย์แห่งกัมพูชา


สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี สิ้นพระชนม์ด้วยพระอาการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 16.37 นาฬิกา ณ ตึก 84 ปี โรงพยาบาลศิริราช สิริพระชันษา 85 พรรษา


พระประวัติ

ประสูติ
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นพระราชธิดาพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กับพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ประสูติเมื่อวันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ณ พระที่นั่งเทพสถานพิลาส ในหมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง ก่อนพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จะเสด็จสวรรคตเพียงวันเดียว


พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้สถาปนานางสาวสุวัทนา อภัยวงศ์ ขึ้นเป็นเจ้าจอมสุวัทนา และในเดือนตุลาคมปีเดียวกันนั้นเองก็ได้มีการสถาปนาเจ้าจอมสุวัทนาซึ่งเป็นที่แน่นอนแล้วว่าจะประสูติกาลพระบุตรในไม่ช้า ขึ้นเป็น พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี เพื่อ "...ผดุงพระราชอิศริยยศแห่งพระกุมารที่จะมีพระประสูติการในเบื้องหน้า"


เมื่อครั้งที่พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวียังทรงพระครรภ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระปีติโสมนัสเป็นอย่างพ้นประมาณ ทรงเฝ้ารอพระประสูติการของพระหน่อพระองค์แรกอย่างจดจ่อ ด้วยทรงคาดหวังว่าจะประสูติกาลพระโอรส ซึ่งพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ได้มีพระดำรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ความว่า "...เมื่อฉันตั้งครรภ์เจ้าฟ้า ล้นเกล้าฯ ก็ทรงโสมนัส ทรงคาดคิดว่าจะได้เป็นชาย ได้ราชสมบัติสืบต่อจากพระองค์ เมื่อยังมีพระอนามัยดีอยู่ ก็มีรับสั่งอย่างสนิทเสน่หาทรงกะแผนการชื่นชมต่อ พระเจ้าลูกยาเธอที่จะเกิดใหม่...อีกทั้งยังทรงพระราชนิพนธ์บทกล่อมบรรทมสำหรับสมโภชเดือนพระราชกุมารประกอบเพลงปลาทองไว้ล่วงหน้า ความว่า



พระเอยพระหน่อนาถ

งามพิลาสดั่งดวงมณีใส


พระเสด็จจากฟากฟ้าสุราลัย

มาเพื่อให้ฝูงชนกมลปรีดิ์


ดอกเอยดอกจัมปา

หอมชื่นจิตติดนาสา


ยิ่งดมยิ่งพาให้ดมเอยฯ


หอมพระเดชทรงยศโอรสราช

แผ่เผยผงาดในแดนไกล


พึ่งเดชพระหน่อไท

เป็นสุขสมใจไม่วางวายฯ


รูปละม้ายคล้ายพระบิตุราช

ผิวผุดผาดเพียงชนนีศรี


ขอพระจงทรงคุณวิบุลย์ทวี

เพื่อเป็นที่ร่มเกล้าข้าเฝ้าเทอญฯ


ดอกเอยดอกพุทธิชาต

หอมเย็นใจใสสะอาด


หอมบมิขาดสุคนธ์เอยฯ


หอมพระคุณการุณเป็นประถม

เย็นเกล้าเหมือนร่มโพธิ์ทอง


เหล่าข้าทูลละออง

ภักดีสนองพระคุณไทฯ


วันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2468 แต่แล้วเมื่อใกล้พระประสูติการ ความชื่นบานทั้งหลายกลับกลายเป็นความกังวล เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรหนักด้วยโรคพระอันตะ มีพระอาการรุนแรงขึ้นอย่างมิคาดฝัน ในยามนั้น พระองค์ประทับ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ประทับ ณ พระที่นั่งเทพสถานพิลาส ซึ่งติดกับพระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน เพื่อทรงรอฟังข่าวพระประสูติการอย่างใกล้ชิด จนกระทั่งพระนางเจ้าสุวัทนาฯ มีพระประสูติการเจ้าฟ้าหญิงในวันที่ 24 พฤศจิกายน จากนั้นในเวลาบ่าย เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ได้เข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลพระกรุณาว่า พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ประสูติ “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ” เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว มีพระราชดำรัสว่า “ก็ดีเหมือนกัน”จนรุ่งขึ้นในวันพุธที่ 25 พฤศจิกายน เจ้าพระยารามราฆพ เชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์น้อยไปเฝ้าฯ สมเด็จพระบรมชนกนาถผู้ทรงพระประชวรหนักบนพระแท่น เมื่อทอดพระเนตรแล้ว ทรงพยายามยกพระหัตถ์ขึ้นสัมผัสพระราชธิดา แต่ก็ทรงอ่อนพระกำลังมากจนไม่สามารถจะทรงยกพระหัตถ์ได้เนื่องจากขณะนั้นมีพระอาการประชวรอยู่ในขั้นวิกฤต เจ้าพระยารามราฆพจึงเชิญพระหัตถ์ขึ้นสัมผัสพระราชธิดา เมื่อจะเชิญเสด็จพระราชกุมารีกลับ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงโบกพระหัตถ์แสดงพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรพระราชธิดาอีกครั้ง จึงเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอมาเฝ้าฯ เป็นครั้งที่สอง และเป็นครั้งสุดท้ายแห่งพระชนมชีพจนกลางดึกคืนนั้นเองก็เสด็จสวรรคต


พระนม (แม่นม) ของสมเด็จเจ้าฟ้าพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 คือ คุณบุปผา พนมวัน ณ อยุธยา ซึ่งเป็นพระนมโดยตำแหน่ง เพราะสมเด็จเจ้าฟ้าพระราชธิดาในรัชกาลที่ 6 เสวยพระกษิรธาราจากพระชนนี มีคณะพยาบาลจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ถวายอภิบาลในเบื้องต้น จากนั้นจึงมีคณะพระอภิบาลจำนวน 12 คน ซึ่งเป็นอดีตคุณพนักงานในรัชกาลที่ 6 โดยผลัดเปลี่ยนกันเฝ้าอภิบาลจนทรงเจริญพระวัยพอสมควร


พระนาม
พระนามของสมเด็จเจ้าฟ้าพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 นั้นได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2468และมีคำนำพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ (ภาติกา หมายถึง หลานสาวที่เป็นลูกสาวของพี่ชาย) โดยก่อนหน้านี้มีการสมโภชได้มีการคิดพระนามไว้ 3 พระนาม ได้แก่ สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชอรสา สิริโสภาพัณณวดี, สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนจุฬิน สิริโสภิณพัณณวดี และสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดีท้ายที่สุด พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงเลือกพระนามสุดท้ายพระราชทาน


ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ได้เสด็จผ่านพิภพขึ้นสืบสนองพระองค์ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีประกาศเปลี่ยนคำนำพระนามสมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ผู้เป็นพระขนิษฐภคินีในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็น สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ


จากนั้นในปี พ.ศ. 2489 เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติสืบแทน ก็ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คงคำนำพระนามของสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ ว่า สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ แม้ว่าสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ จะเป็นพระเชษฐภคินีผู้ทรงเจริญพระชนมายุสูงกว่า เนื่องจากคำว่า ภคินี แปลได้ทั้งน้องหญิงและพี่หญิง ดุจเดียวกัน จึงทรงพระนามตามพระฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ดังปรากฏในปัจจุบันว่า สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ส่วนพระนามในภาษาอังกฤษตามทางราชการใช้ว่า "Her Royal Highness Princess Bejaratana"

เมื่อทรงพระเยาว์
หลังจากประสูติแล้วไม่นาน สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอฯ และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ได้ทรงย้ายไปประทับ ณ ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อทรงเจริญวัยขึ้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นห่วงว่าสมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอฯ จะไม่มีสถานที่ทรงวิ่งเล่นเพราะในพระบรมมหาราชวังมีบริเวณคับแคบ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายออกมาประทับ ณ พระตำหนักสวนหงษ์ พระราชวังดุสิต ตามพระประสงค์ของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า ซึ่งเป็นที่กว้างขวางร่มรื่น แวดล้อมด้วยต้นไม้น้อยใหญ่เหมาะแก่การสำราญพระอิริยาบถของสมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอฯ


ขณะสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ยังทรงพระเยาว์ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้า ทรงพระเมตตาเอาพระราชหฤทัยใส่ดูแลทั้งด้านพระอนามัยและความเป็นอยู่มาโดยตลอด ด้วยเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะทรงพระประชวรหนักนั้น ได้มีพระราชดำรัสกับสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าว่า “ขอฝากลูกด้วย” ต่อมา สมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้ายังได้มีพระราชกระแสถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “เจ้าฟ้านี่ ฉันตายก็นอนตาไม่หลับ พระมงกุฎฝากฝังเอาไว้”


ระหว่างทรงพระเยาว์ มีเหตุการณ์ผันผวนทางการเมืองหลายครั้ง เช่น การเปลี่ยนแปลงการปกครอง และกบฎบวรเดช ทำให้ต้องทรงย้ายที่ประทับอยู่ตลอดเวลา เช่น ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดีในพระบรมมหาราชวัง, พระตำหนักสวนหงส์ พระราชวังดุสิต, ตำหนักเขาน้อย จังหวัดสงขลา, พระตำหนักสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ในสวนสุนันทา และพระตำหนักเขียว วังสระปทุม


จนกระทั่งพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี โปรดให้สร้างตำหนักใหม่ขึ้นเป็นส่วนพระองค์บนที่ดินหัวมุมถนนราชสีมาตัดกับถนนสุโขทัยซึ่งเป็นที่ดินพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวตั้งแต่คราวอภิเษกสมรส ตำหนักแห่งนี้ประทานนามว่า สวนรื่นฤดี มีนายหมิว อภัยวงศ์เป็นสถาปนิก และพลโท พระยาศัลวิธานนิเทศ (แอบ รักตะประจิต)เป็นวิศวกร (ต่อมาได้ทรงขายให้แก่ทางราชการขณะเสด็จไปประทับ ณ ประเทศอังกฤษ และปัจจุบันเป็นส่วนราชการของกองทัพบก)


สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ได้ทรงพระอักษรเบื้องต้นโดยพระอาจารย์จากโรงเรียนราชินี เช่น หม่อมเจ้าหญิงพิจิตรจิราภา เทวกุล, หม่อมเจ้าหญิงเสมอภาค โสณกุล, ครูพิศ ภูมิรัตน ฯลฯ จากนั้น ได้เสด็จไปทรงศึกษา ณ โรงเรียนราชินี (หมายเลขประจำพระองค์ 1847) แล้วจึงทรงศึกษาตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการกับท่านผู้หญิงศรีนาถ สุริยะ อาจารย์จากโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ณ ตำหนักสวนรื่นฤดี ถนนราชสีมา

ประทับ ณ ประเทศอังกฤษ


ต่อมาใน พ.ศ. 2480 พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ผู้เป็นพระชนนีทรงเห็นว่าพระพลานมัยของพระธิดาไม่สู้สมบูรณ์นักจึงนำพระธิดาไปทรงพระอักษรและประทับรักษาพระอนามัย ณ ประเทศอังกฤษ ซึ่งในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงเสด็จไปประทับอยู่ก่อนการสละราชสมบัติแล้ว ทรงย้ายที่ประทับหลายแห่งตามลำดับ กล่าวคือ ตำหนักแฟร์ฮิลล์ เมืองแคมเบอร์เลย์ มณฑลเซอร์เรย์, ตำหนักหลุยส์เครสเซนต์ เมืองไบรตัน มณฑลซัสเซค และตำหนักไดก์โรด (บ้านรื่นฤดี) เมืองไบรตัน มณฑลซัสเซคทั้งสองพระองค์ต้องประสบความยากลำบากนานับประการอันเนื่องมาจากเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองในช่วงภาวะสงครามจึงทรงประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งรวมไปถึงการทำงานบ้านเองเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการจ้างข้าหลวงชาวต่างประเทศ โดยผู้ที่รับใช้ภายในพระตำหนักจะเป็นสตรีทั้งหมด


สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอได้ทรงศึกษาวิชาภาษาอังกฤษ, ภาษาฝรั่งเศส และเปียโนกับพระอาจารย์ชาวต่างประเทศ และได้เสด็จไปทรงศึกษาในโรงเรียนประจำสตรีชื่อโรงเรียนเซเครดฮาร์ต แคว้นเวลส์ ครั้นในช่วงเสด็จลี้ภัยสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งนี้ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่พระองค์ประทับ ณ ประเทศอังกฤษ พระองค์และพระชนนีมีพระกรุณาต่อชาวไทยในประเทศอังกฤษ โดยทรงโปรดให้เข้าเฝ้า และจัดประทานเลี้ยงให้อยู่เสมอ และพระราชทานพระกรุณาแก่กิจการต่างๆ ของชาวไทยอยู่เสมอ ทรงร่วมงานของสามัคคีสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นสมาคมนักเรียนไทยในสหราชอาณาจักร เป็นประจำ นอกจากนี้ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง พระองค์ยังทรงอุทิศพระองค์ช่วยเหลือกิจการสภากาชาดอังกฤษ ประทานแก่ทหารและผู้ประสบภัยสงครามด้วยการเสด็จไปทรงบำเพ็ญประโยชน์ เช่น ม้วนผ้าพันแผล จัดยา และเวชภัณฑ์ สภากาชาดอังกฤษจึงได้ถวายถวายเกียรติบัตรประกาศพระกรุณา และในขณะที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีพระชนมชีพหลังการสละราชสมบัติแล้ว พระองค์และพระชนนีได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทอยู่เสมอ

นิวัตประเทศไทย


เสด็จกลับประเทศไทยเป็นการชั่วคราวเมื่อปี พ.ศ. 2500 ทรงพระกรุณาโปรดให้สร้างวังในซอยสุขุมวิท 38 (ซอยสันติสุข) โดยมีพลเรือตรีสมภพ ภิรมย์ ศิลปินแห่งชาติ เป็นสถาปนิก แล้วเสด็จไปประเทศอังกฤษอีกในปี พ.ศ. 2501 เพื่อทรงเตรียมพระองค์เสด็จกลับประเทศไทยเป็นการถาวร จากนั้นจึงได้เสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นการถาวรในปี พ.ศ. 2502 ประทับ ณ วังแห่งใหม่ จึงได้ขนานนามวังดังกล่าวว่า วังรื่นฤดี เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2503ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 69 ซอยสุขุมวิท 38 กรุงเทพมหานคร และพระองค์ได้ประทับอยู่ตราบกระทั่งสิ้นพระชนม์ ส่วนในช่วงฤดูร้อนพระองค์จะเสด็จแปรที่ประทับไปยังตำหนักพัชราลัย ถนนเพชรเกษม อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์


หลังการสิ้นพระชนม์ของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้องคมนตรีผลัดเปลี่ยนกันอัญเชิญดอกไม้และผลไม้ และสังเกตพระอนามัยของพระองค์เป็นประจำทุก 2 สัปดาห์ มีการจัดตำรวจคอยอารักขาตลอดเวลา และทรงโปรดฯให้ห้องเครื่องสวนจิตรลดาจัดเครื่องเสวยมาทุกวัน นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลขาธิการพระราชวังจัดกรมวัง และสารถีมาปฏิบัติหน้าที่ประจำทั้งภายในวังที่ประทับ และจัดเจ้าหน้าที่มาตกแต่งสถานที่ และปฏิบัติในเวลาที่มีงานพิเศษ เช่น งานวันคล้ายวันประสูติ และการทรงบำเพ็ญพระกุศลอย่างสมพระเกียรติยศทุกประการ ส่วนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถเองก็ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงนราวดี ชัยเฉนียน มาเฝ้าและคอยติดตามพระอนามัย และใส่ใจรายละเอียดเล็กน้อยเช่น คลุมพระบรรทมและปลอกพระเขนยที่สวยงาม รวมไปถึงการจัดดอกไม้ที่พระองค์ทรงโปรดมาไว้ที่ห้องพระบรรทม เพื่อให้ทรงชื่นพระทัย


พระกรณียกิจสังเขป
นับแต่เสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นการถาวรใน พ.ศ. 2502 พระกรณียกิจก็ได้เพิ่มพูนขึ้นเป็นลำดับ ได้ทรงแบ่งเบาพระราชภาระของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะในด้านสังคมสงเคราะห์ โดยเสด็จออกเยี่ยมราษฎรตามหัวเมืองทั้งใกล้ไกล พร้อมพระราชทานพระอนุเคราะห์แก่ผู้ยากไร้อยู่เสมอ ครั้นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลปัจจุบัน ทรงเจริญพระวัยขึ้นกระทั่งทรงสามารถแบ่งเบาพระราชกรณียกิจได้ ประกอบกับพระองค์มีพระชนมายุสูงขึ้น จึงได้เสด็จออกทรงเยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดารน้อยลง เมื่อพระองค์มีพระชันษาสูงขึ้น พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริภาจุฑาภรณ์ พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้เข้าเฝ้าและได้ปฏิบัติพระกรณียกิจแทนพระองค์อยู่เนืองๆ


สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ได้ทรงรับสถาบันและองค์กรต่างๆ ไว้ในพระอุปถัมภ์เป็นจำนวนกว่า 30 แห่ง ทั้งในส่วนที่สืบสานจากสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ในส่วนของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ และโดยส่วนพระองค์เอง ทั้งในด้านการศึกษา เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนศรีอยุธยา ในพระอุปถัมภ์ โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย โรงเรียนราชินี โรงเรียนราชินีบนโรงเรียนราชินีบูรณะ โรงเรียนวิเชียรมาตุ โรงเรียนสภาราชินี โรงเรียนศรียานุสรณ์ โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โรงเรียนสายน้ำผึ้ง โรงเรียนศรีอยุธยา โรงเรียนเพชรรัชต์ โรงเรียนเพชรรัตนราชสุดา โรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์เพชราวุธวิทยา โรงเรียนสยามธุรกิจ สถาบันสันติราษฎร์บริหารธุรกิจ โรงเรียนพณิชยการสยาม โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา ฯลฯ การสาธารณสุข เช่น วชิรพยาบาล โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ศิริราชพยาบาล ฯลฯ กิจการลูกเสือ-เนตรนารี และกิจการอาสาสมัครรักษาดินแดน ตลอดจนการสังคมสงเคราะห์อื่นๆ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระราชทานกำเนิด มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทั้งยังทรงเป็นผู้นำในการอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรมในรัชกาลที่ 6 เช่น พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จังหวัดเพชรบุรี และ พระราชวังพญาไท ในบริเวณโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า อย่างไรก็ดี แม้ทุกวันนี้จะได้เสด็จออกไปทรงปฏิบัติพระกรณียกิจนอกสถานที่น้อยลงเนื่องด้วยพระชนมายุที่สูงขึ้น แต่ก็ยังพระราชทานพระวโรกาสให้ผู้แทนองค์กรต่างๆ เฝ้ากราบทูลรายงานความก้าวหน้าพร้อมทั้งรับพระราชทานพระกรุณาโดยประการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง


สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ มีพระปณิธานอันแน่วแน่ในการทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจ ดังปรากฏในพระดำรัสที่พระราชทานในงานฉลองพระชนมายุ 61 พรรษา เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529 ณ วชิราวุธวิทยาลัย ความตอนหนึ่งว่า "ฉันขอกล่าวต่อท่านทั้งปวงว่า จะพยายามบำเพ็ญตนเพื่อประโยชน์แก่บ้านเมือง ด้วยความจงรักภักดีต่อบ้านเกิดและต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้เป็นพระประมุขของชาติ ทั้งจะได้รักษาเกียรติศักดิ์แห่งความเป็นราชนารีในมหาจักรีบรมราชวงศ์ไว้ชั่วชีวิต" — สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี


สิ้นพระชนม์
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ได้เสด็จประทับรักษาพระอาการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต ณ ตึก 84 ปี ชั้น 5 ด้านตะวันออก โรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 แม้คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาอย่างใกล้ชิดจนสุดความสามารถ พระอาการประชวรได้ทรุดลงตามลำดับ และสิ้นพระชนม์เมื่อเวลา 16 นาฬิกา 37 นาที วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 รวมพระชันษา 85 ปี


พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สำนักพระราชวังจัดการพระศพถวายพระเกียรติยศสูงสุดตามราชประเพณี ประดิษฐานพระศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทในราชสำนักไว้ทุกข์ มีกำหนด 100 วัน ตั้งแต่วันสิ้นพระชนม์เป็นต้นไป


อนึ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนเข้าถวายน้ำสรงพระศพหน้าพระฉายาลักษณ์ ซึ่งประดิษฐาน ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่เวลา 13 นาฬิกา ถึง 16 นาฬิกา วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 — สำนักพระราชวัง 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554



นอกจากนี้ สำนักนายกรัฐมนตรียังได้มีประกาศให้สถานที่ราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และสถานศึกษาทุกแห่งลดธงครึ่งเสา กับทั้งให้ข้าราชการ ลูกจ้าง พนักงานของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ และรัฐวิสาหกิจไว้ทุกข์ ทั้งนี้มีกำหนด 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เป็นต้นไป (ยกเว้นวันที่ 12 สิงหาคม เนื่องจาก เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ) ซึ่งพระราชพิธีพระศพจะจัดให้สมพระเกียรติเช่นเดียวพระราชพิธีพระศพของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์


พระอิสริยยศ
สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี (30 ธันวาคม พ.ศ. 2468 - 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2478)
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี (10 กรกฎาคม พ.ศ. 2478 - 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554)

พระยศทางทหาร
พันโทหญิง (พ.ศ. 2512)
ผู้บังคับการพิเศษ กรมทหารราบที่ 15 จังหวัดนครศรีธรรมราช (พ.ศ. 2512)
พันเอกหญิง, นาวาเอกหญิง และ นาวาอากาศเอกหญิง (พ.ศ. 2533)
นายทหารพิเศษประจำกรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์
นายทหารพิเศษประจำกองนักเรียนนายเรือรักษาพระองค์ โรงเรียนนายเรือ กรมยุทธศึกษาทหารเรือ (พ.ศ. 2533)
นายทหารพิเศษประจำกรมนักเรียนนายเรืออากาศรักษาพระองค์ โรงเรียนนายเรืออากาศ กรมยุทธศึกษาทหารอากาศ (พ.ศ. 2533)
ราชองครักษ์พิเศษ (พ.ศ. 2533)
นายทหารพิเศษ กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (พ.ศ. 2533)
นายทหารพิเศษประจำ กองพันทหารราบที่3 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (พ.ศ. 2552)
พลเอกหญิง (พ.ศ. 2552)
พลเรือเอกหญิง พลอากาศเอกหญิง (พ.ศ. 2553)
นายทหารพิเศษประจำ ฝูงบิน 602 รักษาพระองค์ กองบิน 6 (พ.ศ. 2553)



เครื่องราชอิสริยาภรณ์

เครื่องราชอิสริยาภรณ์ (เรียงตามลำดับปีที่ได้รับพระราชทาน)
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ดังนี้
พ.ศ. 2468 : เครื่องราชอิสริยาภรณ์รัตนวราภรณ์ (ฝ่ายใน)
พ.ศ. 2468 : เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 1
พ.ศ. 2469 : เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 7 ชั้นที่ 1
พ.ศ. 2500 : เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ (ฝ่ายใน)
พ.ศ. 2501 : เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าปฐมจุลจอมเกล้า (ฝ่ายใน)
พ.ศ. 2510 : เหรียญกาชาดสรรเสริญ
พ.ศ. 2510 : เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นสูงสุด มหาวชิรมงกุฎ
พ.ศ. 2529 : เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 9 ชั้นที่ 1
พ.ศ. 2533 : เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นสิริยิ่งรามกีรติ ลูกเสือสดุดีชั้นพิเศษ
พ.ศ. 2535 : เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นสูงสุด มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก
พ.ศ. 2538 : เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ ชั้นที่ 1 ปฐมดิเรกคุณาภรณ์




เครดิต วิกิพีเดีย

No comments:

Post a Comment