Saturday, January 7, 2012

“วรวัจน์” ผุดไอเดียปรับระบบสอบรับตรงใหม่ สอบครั้งเดียวตามกลุ่มวิชา

  “วรวัจน์” ผุดแนวคิด ปรับระบบสอบรับตรงใหม่ สอบครั้งเดียวตามกลุ่มวิชา วาดฝันในอนาคตนำไปรวมกับระบบแอดมิสชั่นส์ให้กลายเป็นระบบคัดเลือกใหม่ หวังเริ่มใช้ระบบรับตรงใหม่ปี 56 ขณะที่ การสอบวิชาสามัญ 7 วิชา ที่ร.ร.วัดสุทธิวรารามพบผู้เข้าสอบอายุมากที่สุด 53 ปี มาสอบเพื่อนำความรู้ไปสอนลูกหลาน “สัมพันธ์” เผยใช้มาตรการป้องกันการทุจริตแบบเดียวกับสอบ GAT/PAT แต่มีการกำชับเพิ่มเติมทั้งเรื่องความปลอดภัยของข้อสอบ การคุมสอบ และการจัดโต๊ะสอบ 
      
       วันนี้ (7 ม.ค.) เมื่อเวลา 09.00 น. ที่สนามสอบโรงเรียนวัดสุทธิวราราม นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พร้อมด้วยรศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) และผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินทางมาตรวจเยี่ยมสนามสอบ การจัดทดสอบวิชาสามัญ 7 วิชา เพื่อนำคะแนนไปใช้ในการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาในระบบรับตรงผ่านเคลียริ่งเฮาส์ ประจำปีการศึกษา 2555 ซึ่งจัดสอบพร้อมกันทั่วประเทศระหว่างวันที่ 7-8 มกราคม 2555

 
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ตรวจเยี่ยมสนามสอบวิชาสามัญ 7 วิชาครั้งแรกที่สนามสอบโรงเรียนวัดสุทธิวราราม พร้อมด้วย รศ.ดร.สัมพันธุ์ พันธุ์พฤกษ์ ผอ.สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ และนายสุนันทวิทย์ พลอยขาว ผอ.โรงเรียนวัดสุทธิวราราม
       นายวรวัจน์ กล่าวภายหลังการตรวจเยี่ยม ว่า การทดสอบวิชาสามัญ 7 วิชาถือเป็นการจัดสอบครั้งแรก เพื่อนำคะแนนไปใช้ในรับตรงผ่านเคลียริ่งเฮาส์ ซึ่งในภาพรวมการจัดสอบเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งนี้ ได้กำชับให้สนามสอบต่าง ๆ ว่าต้องไม่มีการทุจริตและไม่มีข้อสงสัยจากเด็กและผู้ปกครอง ส่วนที่หลายฝ่ายเกรงว่าการที่ สทศ. ดำเนินการจัดทดสอบต่าง ๆ ติดต่อกันจำนวนมากอาจจะทำให้เด็กเกิดความเครียดนั้น ส่วนตัวเห็นว่าน่าจะเป็นผลดีเพราะเท่ากับว่าเด็กจะได้เตรียมตัวอ่านหนังสือเพียงครั้งเดียวแต่สามารถนำความรู้ไปสอบหลาย ๆ อย่างได้เลย และเท่าที่พูดคุยกับนักเรียนที่มาสอบนั้น เด็กก็บอกว่าข้อสอบไม่ยากเกินไป และตนเชื่อว่าการสอบครั้งนี้จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องที่เด็กต้องวิ่งรอกสอบเป็นเหตุทำให้สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการสอบรับตรงได้ ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยจะสามารถคัดเด็กได้ตรงตามที่ต้องการ
      
       อย่างไรก็ตาม ตนเห็นว่าในอนาคตนั้นน่าจะต้องมีการปรับระบบการสอบรับตรงเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของเด็กและมหาวิทยาลัยมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการหารือระหว่าง ศธ.โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ. ) และมหาวิทยาลัยทั้งหมด รวมทั้งสภาคณบดีคณะต่าง ๆ เพื่อช่วยปรับหลักสูตรระดับมัธยมศึกษา เป็นหลักสูตรมัธยมเชิงปฏิบัติการ 7 กลุ่มอาชีพโดยมีมหาวิทยาลัยมาร่วมจัดทำหลักสูตรเพราะทั้งสองระดับการศึกษาต้องเชื่อมโยงกัน ได้แก่ กลุ่มเกษตรกรรม กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มบริหารจัดการและสังคม กลุ่มความคิดสร้างสรรค์ กลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต กลุ่มอาหาร และกลุ่มวิจัยนวัตกรรมและการถ่ายทอดองค์ความรู้ ดังนั้น ในอนาคตการสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็ควรต้องมีการปรับระบบให้สอดคล้องกัน โดยเฉพาะข้อสอบรับตรงนั้นจะต้องเปลี่ยนจากการสอบวิชาสามัญ 7 วิชา เป็น 7 กลุ่มอาชีพ เพื่อช่วยให้การส่งต่อเด็กเข้าสู่มหาวิทยาลัยมีความสมบูรณ์ขึ้น โดยจะพยายามเร่งรัดให้หลักสูตร 7 กลุ่มอาชีพให้เสร็จก่อนเดือนพฤษภาคม 2555 
      
       “ได้มอบสภาคณบดีของมหาวิทยาลัยออกข้อสอบคัดเลือกเข้าเรียนต่อในสาขาของตัวเองดัวย และต่อไปในอนาคตจะนำข้อสอบดังกล่าวมาใช้ในการรับตรง ทำให้เด็กสอบครั้งเดียวแต่สามารถนำคะแนนไปยื่นตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้ ไม่ต้องวิ่งสอบหลายที่ ซึ่งตรงนี้ผมคาดว่ามหาวิทยาลัยต่าง ๆ จะเห็นด้วยแต่ และในอนาคตคาดหวังว่าการสอบตรงรูปแบบใหม่นี้จะสามารถผสมผสานกับระบบกลางการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษาหรือแอดมิสชั่นส์กลาง ออกมาเป็นระบบการคัดเลือกใหม่ที่มีความเหมาะสมให้แต่ละคณะ/สาขาได้เด็กตรงตามต้องการขณะที่เด็กเองไม่ต้องวิ่งสอบหลายแห่ง ส่วนระบบสอบตรงตามสาขาอาชีพนี้จะเริ่มใช้ได้เมื่อไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับว่า แต่ละสาขาวิชาจะสามรถผลักดันหลักสูตรใหม่ออกมาเร็วขนาดไหน หากเริ่มต้นได้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2555 ก็คาดว่าจะสามารถใช้ในการรับตรงในปีการศึกษา 2556 ได้เลย”นายวรวัจน์ กล่าว
      
       ด้าน รศ.ดร.สัมพันธุ์ กล่าวว่า การจัดสอบวิชาสามัญ 7 วิชาครั้งแรกนี้ ภาพรวมจำนวนผู้มีสิทธิ์สอบแยกตามรายวิชา ดังนี้ ภาษาอังกฤษ 146,263 คน สังคมศึกษา 145,620 คน ภาษาไทย 145,619 คน คณิตศาสตร์ 136,979 คน ชีววิทยา 96,876 คน ฟิสิกส์ 95,798 คน เคมี 95,609 คน โดยมีศูนย์สอบทั้งสิ้น 8 ศูนย์ มีสนามสอบ 113 สนาม ใน 37 จังหวัด ทั้งนี้จะมีการประกาศผลสอบในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2555
      
       สำหรับสนามสอบโรงเรียนวัดสุทธิวราราม ได้จัดสอบ จำนวน 4 รายวิชา โดยวันนี้มีผู้เข้าสอบที่มีอายุมากที่สุด 53 ปี ซึ่งจากการสอบถามพบว่า เป็นผู้ปกครองที่มาเข้าสอบเพราะต้องการนำประสบการณ์การสอบไปสอนลูกหลาน ส่วนผู้เข้าสอบที่มีอายุ 23 ปี ขึ้นไป ซึ่งเทียบอายุแล้วเท่ากับผู้ที่เรียนจบปริญญาตรีแล้ว โดยส่วนตัวมองว่า เป็นเรื่องดี ที่ประชาชนทั่วไปสนใจสอบ เป็นการให้โอกาสคน ทั้งนี้อาจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มคนที่ต้องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยใหม่อีกครั้ง เช่น ต้องการสอบเรียนแพทย์อีกครั้ง ซึ่ง กสพท. กำหนดให้ต้องสอบวิชาสามัญ 2. กลุ่มผู้ปกครอง ครู ที่ต้องการมาลองข้อสอบ และ 3. กลุ่มโรงเรียนกวดวิชา
      
       รศ.ดร.สัมพันธ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับมาตรการรักษาความปลอดภัยเพื่อป้องกันการทุจริตการสอบนั้น สทศ. ใช้มาตรการเดียวกับการสอบ GAT/PAT แต่มีการกำชับศูนย์สอบ และสนามสอบ เพิ่มเติม 3 เรื่องคือ 1. สทศ.ใช้สายรัดกล่องข้อสอบ เพื่อรักษาความปลอดภัยของกล่องข้อสอบให้มากขึ้น โดยสายรัดจะมีตราโลโก้ของ สทศ.โดยเฉพาะ และการเปิดกล่องข้อสอบจะต้องมีพยาน ซึ่งเป็นมาตรการใหม่ในปีนี้ 2.ในแต่ละห้องสอบ กำหนดให้กรรมการคุมสอบ 2 คน คนแรกคุมหน้าห้อง คนที่สอง คุมหลังห้อง จากเดิมไม่ได้กำหนดไว้ 3. กำหนดพื้นที่การจัดโต๊ะสอบให้มีความเหมาะสม โดยเฉพาะแต่ละห้องกำหนดให้สอบห้องละ 30 คน ส่วนโต๊ะเก้าอี้ที่เหลือ ขอให้ย้ายไปวางไว้นอกห้องเรียน

Credit   Manager.co.th and Unigang.com

No comments:

Post a Comment